แฉปม เบื้องหลังน้ำมันไทย
เบื้องหลังน้ำมันไทย
เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีการแชร์คลิปของทหารท่านหนึ่งที่ออกมากล่าวถึงเบื้องหลังน้ำมันไทย และมีการแชร์จนเกิดความเข้าใจผิดในกลุ่มคนที่ได้รับชมคลิป รวมถึงเกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำงานของรัฐ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เนื้อหาที่นำมาพูดนั้น ส่วนหนึ่งเป็นคำพูดเพียงครึ่งเดียว มีความจริงปนอยู่บางส่วน โดยหากนำมาพูดไม่เต็มประโยคก็มักจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด โดยจะขอนำข้อมูลมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้
คำว่า “น้ำมันและแก๊ส จะหมดภายในอีก 6-7 ปี” หรือ ก๊าซจะหมดภายใน 7 ปี ไม่ได้หมายถึงปริมาณปิโตรเลียมใต้ดินมีเหลือให้เราขุดขึ้นมาอีก 6-7 ปี หากแต่หมายถึง การคำนวณจากปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้ว 8.41 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ณ สิ้นปี พ.ศ. 2556 หารด้วยปริมาณการผลิตทั้งปีจากอัตราการผลิตเฉลี่ยประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก็จะเหลือประมาณ 6.8 ปี ตามรายงานของ BP Statistical Review of world energy 2013 workbook ซึ่งตัวเลข 6-7 ปีนี้ เป็นตัวเลขเฉลี่ยรวมปริมาณสำรองและการผลิตก๊าซธรรมชาติจากทุกแหล่ง ในบางแหล่งที่อัตราการผลิตสูงอาจจะเหลือ 3-4 ปี ต้องเร่งสำรวจหาเพิ่มในกระเปาะอื่นๆ บางแหล่งอาจจะยาวถึง 30 ปี เนื่องจากอัตราการผลิตต่ำ ตัวอย่างกรณีสำรองน้ำมันดิบ (R/P) ของทั้งโลกมีอยู่ 53 ปี ขณะที่เวเนซุเอลามีสำรองน้ำมันดิบถึง 310 ปี ขึ้นอยู่กับปริมาณสำรองและอัตราการผลิตของประเทศนั้นๆ ดังนั้น หากหยุดการสำรวจหาแหล่งใหม่ๆ มาเติมจนปริมาณสำรองใกล้จะหมด ก็จะไม่สามารถรักษากำลังการผลิตในประเทศที่ระดับเดิมได้ อัตราการผลิตก็จะลดลงไปเรื่อยๆ
ในส่วน “ราคาน้ำมันที่ตกต่ำเหลือลิตรละ 8 บาท เราก็สามารถนำเข้ามาขายเองได้สัญญาระยะยาว” อันนี้พูดง่าย หากแต่ในความเป็นจริง ประเทศใดจะยอมทำสัญญาด้วย เพราะประเทศนั้นๆ จะเสียผลประโยชน์ (เหมือนการตลาดที่มีเพียงอุปสงค์ คือความต้องการซื้อ แต่ไม่มีอุปทาน คือความต้องการขายของผู้ค้า ดังนั้นราคา 8 บาทจึงไม่ใช่ราคาที่เป็นไปตามกลไกราคาตลาดอย่างแน่นอน) ยกตัวอย่าง หากคุณเป็นประเทศที่ขายน้ำมัน คุณจะยอมทำสัญญาขายน้ำมันในราคาเดิม 7-8 ปี ทั้งๆ ที่สถานการณ์น้ำมันมีขึ้นลงทุกวัน (ซึ่งตอนนี้ปรับลงมามาก แนวโน้มในอนาคตมีสิทธิ์ที่น้ำมันจะขึ้นมากกว่าลง) อย่างนั้นหรือ? อย่าลืมว่าเขาไม่จำเป็นต้องแคร์ผู้ซื้ออย่างไทยเนื่องจากมีประเทศอื่นที่มีความต้องการซื้อน้ำมันอยู่มากมาย
ลองคิดเล่นๆ ราคาน้ำมัน 8 บาท/ลิตร จะเป็นไปได้ถ้าราคาตลาดโลกอยู่ที่ 40 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นราคาที่ปากหลุม ไม่รวมค่าขนส่ง ไม่รวมค่าการกลั่น รวมถึงยังไม่รวมภาษีและกองทุนน้ำมันอีกด้วย
——————————————-
ส่วนต่อมา เราอ้างอิงตลาดสิงคโปร์…ราคาหน้าโรงกลั่นประมาณ 11-12 บาท เมื่อประมาณมกราคม 58 ซึ่งไม่ต่างกับราคาไทยมากนัก (อย่าลืมเรื่องมาตรฐานน้ำมันยูโร4 ด้วย)ที่เหลือ ภาษีประมาณ 12 บาท, กองทุนต่างๆ ประมาณ 9 บาท, ค่าการตลาดประมาณ 2 บาท และมีปัจจัยอื่นเช่น ราคาเอทานอล ราคาไบโอดีเซล ฉะนั้น หากจะบอกว่าปิดโรงกลั่นทุกโรง แล้วนำเข้าในราคาที่ถูกกว่านั้น ไม่เป็นความจริง เพราะต่อให้นำเข้ามา ก็ต้องเสียค่าขนส่ง และมาเสียภาษีกับกองทุนน้ำมันอีกต่อหนึ่ง ซึ่งเป็นผลให้ราคาแพงกว่าเดิม ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้จากการกลั่นเช่น ก๊าซหุงต้มก็จะหายไป ทั้งยังเป็นการเอาเสถียรภาพทางพลังงานไปขึ้นอยู่กับการนำเข้าน้ำมันอีกด้วย
ต่อมาที่บอกว่า กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลเท็จกับนายกคนปัจจุบัน กระทรวงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลไม่ผิดครับ เราไม่สามารถตีความสั้นๆ เพียงแค่ว่า มีบ่อ 6,000 กว่าบ่อ แล้วมีการขุดพบปิโตรเลียมประมาณ 3,000 หลุม มีสัดส่วนที่เจอปริมาณน้ำมันถึง 50% โดยไม่พูดถึงปริมาณน้ำมัน ก๊าซ ปิโตรเลียม ที่ขุดเจอว่าได้เท่าไหร่ และความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจมีเท่าใดด้วย ยกตัวอย่างเช่น บอกว่า ประเทศ ก. มีหลุมปิโตรเลียม 100 หลุม กับ ประเทศ ข. มีปิโตรเลียม 10 หลุม ซึ่งมองเผินๆ ดูเหมือนประเทศ ก. มีมากกว่า โดยไม่ได้บอกว่า 100 หลุมของประเทศ ก. แต่ละหลุมมีขนาดท่าสนามบาส ส่วน 10 หลุมของประเทศ ข. มีขนาดเท่าสนามราชมังคลากีฬาสถานนั่นเอง
———————————————
เรื่องสุดท้าย ขอให้แยกกันให้ออกระหว่าง ที่ดิน สปก. กับ ปิโตรเลียมที่อยู่ข้างใต้ ว่ากันด้วยเรื่องของกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องนั้น ขอสรุปง่ายๆ ว่า การขุดเจาะที่อยู่ในพื้นที่สัมปทาน สามารถทำการสำรวจ ผลิตได้ตาม พรบ .ปิโตรเลียม ส่วนการใช้พื้นที่ สปก. สามารถทำได้ แต่ต้องทำข้อตกลงขอใช้พื้นที่ ซึ่งในพื้นที่ที่ถูกพูดถึงมีทั้งที่อยู่ในพื้นที่สปก. และนอกสปก.
เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สำหรับคนในโซเชียล ว่าการเสพข้อมูลใดๆ โดยไม่ใช้วิจารณญาณเสียก่อน ย่อมเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ทางที่ดีควรหาข้อมูลที่เป็นกลาง มีหลักฐานอ้างอิง เพื่อศึกษาก่อนจะเลือกเชื่อก็ยังไม่สาย
เครดิตข้อมูล : https://www.facebook.com/nongposamm